Home » #mediaonmedia » 1 ปีหลังรัฐประหาร: นักข่าวกลายเป็นงานเสี่ยงภัยในเมียนมา
#mediaonmedia

1 ปีหลังรัฐประหาร: นักข่าวกลายเป็นงานเสี่ยงภัยในเมียนมา

Read in English | Burmese | Khmer

ย่างกุ้ง | 31 มกราคม 2565

ช่วงนี้นักข่าวในเมียนมาหลายคนไม่ได้หาข่าวกันแล้ว เพราะต้องขมีขมันขายเครื่องสำอางและเสื้อผ้าเลี้ยงชีพ  ส่วนคนที่ยังทำงานเป็นนักข่าวอยู่ ก็ได้รับเงินเดือนน้อยลงมากหรือบางคนก็ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างด้วยซ้ำ  นักข่าวส่วนหนึ่งหนีไปอยู่แถวชายแดนหรือไม่ก็ลี้ภัยไปต่างประเทศ อีกส่วนหนึ่งก็วางปากกาไปจับอาวุธ โดยเข้าร่วมกับกองกำลังที่ต่อสู้กับทหารในหลายๆพื้นที่ของประเทศ

นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคนในวงการสื่อมวลชนของเมียนมา ซึ่งกลายเป็นอาชีพที่ประสบความยากลำบากมาตั้งแต่ที่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งผ่านมา 1 ปีแล้ว 

เช่นเดียวกับคนอื่นๆในประเทศที่มีประชากร 55.5 ล้านนี้ นักข่าวต้องใช้ชีวิตในสภาพที่มีความเครียด ต้องตัดสินใจเรื่องการหาเลี้ยงชีพและความปลอดภัยในชีวิต โดยไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

นักข่าวโทรทัศน์วัย 38 ปีคนหนึ่งกล่าวว่าตนเป็นคนหารายได้หลักของครอบครัว เลยไม่อยากเสี่ยงที่จะทำงานสื่อมวลชนในช่วงนี้ จึงได้หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างส่งของโดยใช้จักรยาน  “มีสื่อบางสำนักได้เสนองานให้ผมทำข่าวในแง่มุมดีๆเกี่ยวกับกิจกรรมของทหาร แต่ผมไม่อยากจะเขียนข่าวแบบนั้นแม้ว่าจะไม่มีกินก็ตาม”

คนข่าวจำนวนมากต้องออกจากวงการไปหางานอื่นทำ ด้วยเหตุที่ว่าถูกเลิกจ้างหรือไม่กล้าทำงานสื่อเพราะอันตรายเกินไป หลายคนได้งานในบริษัทที่ไม่ใช่สื่อมวลชน บ้างก็ขายอาหารทานเล่นอย่างเช่น “โมฮิงก้า” (ก๋วยเตี๋ยวปลา) “งาปิ” (กะปิปลา) และตั๋วรถโดยสาร

นักข่าวบางคนต้องพลัดพรากจากครอบครัวในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ต้องคอยหลบซ่อนหรือไปลี้ภัยในต่างแดน

“เวลาเห็นคลิปวีดีโอครอบครัวของคนอื่น ผมร้องไห้เพราะคิดถึงครอบครัวตัวเองมากๆ ลูกผมยังเล็ก ก็เลยไม่ได้พาครอบครัวมาอยู่ด้วยกัน” นักข่าวอีกคนกล่าว ตอนนี้เขาได้อาศัยหลบภัยอยู่ในเขตยึดครองของชนกลุ่มน้อยมาร่วม 8 เดือนแล้ว โดยที่กองกำลังชนกลุ่มน้อยนี้ได้ต่อสู้กับทหารพม่ามากว่า 70 ปีแล้ว นักข่าวคนนี้มีหมายจับในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามมาตรา 505 (a) ของกฎหมายอาญาเมียนมา ซึ่งเป็นอาวุธหลักทางกฎหมายที่ใช้เล่นงานสื่อมวลชนมาตั้งแต่มีรัฐประหาร

“แต่ตอนนี้ผมคิดว่าเราจะต้องรอดแม้ว่าจะแยกกันอยู่” เขาพูดต่อ “อย่างน้อยก็ยังดีกว่าอีกหลายครอบครัว ที่มีคนเสียชีวิตไป”

ต้องระแวดระวังอยู่ตลอด

ชัดเจนว่าตอนนี้งานสื่อมวลชนในเมียนมานั้นอันตราย เพราะยังมีการจับกุมคนข่าวอยู่เรื่อยๆ นับถึงวันที่ 25 มกราคม เท่าที่ทราบถูกจับไปแล้ว 120 คน โดยที่ 46 คนยังถูกคุมขังอยู่ แต่การเป็นสื่อมวลชนในห้วงเวลานี้ก็ยังมีความเสี่ยงอื่นๆอีก

ชาวบ้านในหลายพื้นที่ไม่อยากให้มีนักข่าวเข้ามาอาศัยในชุมชนของตน เพราะมักจะมีเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจเข้ามาตรวจค้นบ่อยๆ

“งานนักข่าวไม่ใช่อาชญากรรม แต่รัฐบาลทหารทำเหมือนเราเป็นอาชญากร ฉันกลัวตลอดเวลาว่าจะถูกเฝ้าติดตามตอนออกไปข้างนอก” นักข่าวหนังสือพิมพ์หญิงคนหนึ่งกล่าว ตอนนี้เธอเขียนข่าวโดยไม่ได้รับค่าจ้าง “ฉันกลับไปบ้านเกิดไม่ได้เพราะเพื่อนบ้านรู้ว่าเป็นนักข่าว ชาวบ้านคิดว่านักข่าวจะนำภัยมาให้คนในชุมชน”

นักข่าวสื่อมวลชนต้องเผชิญกับคำถามรบกวนใจที่ตอบได้ยาก ว่าพวกเขามีมุมมองและใช้ชีวิตกับวิชาชีพนี้อย่างไร ท่ามกลางความขัดแย้งที่มิอาจละเลยได้

นักข่าวท้องถิ่นแบบเธอคนนี้เป็นกลุ่มที่ต้องเสี่ยงภัยมากสุด  “ฉันต้องปกปิดไม่ให้คนรอบตัวรู้ว่าเป็นนักข่าว” เธอได้ย้ายที่อยู่มาหลายครั้งแล้วเพื่อหลบเลี่ยงสายของทหาร  “ฉันเป็นฟรีแลนซ์ก็เลยไม่มี สื่อสำนักไหนมาปกป้อง ต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัย” 

“รัฐบาลทหารปล่อยข่าวเท็จอยู่ตลอด” นักข่าวอีกคนกล่าวเสริม เขามีประสบการณ์งานข่าวร่วม 8 ปี “ผมจะยังรายงานข่าวต่อไปแม้จะเสี่ยง เพราะหลายคนต้องเสียชีวิตไปเพื่อจะได้ประชาธิปไตยมา”

องค์กรสื่อชื่อดังที่ทำงานอยู่นอกประเทศเมียนมา ทั้งในประเทศไทยและที่อื่นๆ รวมทั้งสื่อของชุมชนกลุ่มชาติพันธ์ุ ต่างก็ได้รับทุนอุดหนุนจากต่างประเทศ  แต่ว่านักข่าวอิสระกับกลุ่มสื่อเล็กๆในท้องถิ่นของเมียนมา กลับไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร จากข้อมูลของครูฝึกสื่อประสบการณ์สูง

เขาประเมินว่ามีสื่อท้องถิ่นน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งที่คนพวกนี้ต้องการให้ช่วยในเรื่องพื้นฐานมากๆ อย่างเช่นเงินสำหรับซื้ออาหารและค่าใช้จ่ายประจำวัน

ตอนนี้นักข่าวท้องถิ่นต้องจำยอมที่จะถูกตัดเงินเดือนถึง 60 เปอร์เซ็นต์  อีกส่วนหนึ่งได้เงินเดือนแค่ครึ่งเดียว ทำงานเดือนละ 15 วัน  เงินเดือนนักข่าวโดยทั่วไปก็คือ 200,000 จ๊าด (110 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางเมียนมา) ส่วนบรรณาธิการนั้นได้ 2 เท่าของจำนวนดังกล่าว

ความเสี่ยงทวีทุกวัน

แม้ว่านักข่าวจะยังทำงานได้อยู่ แต่ก็ยังต้องเจอปัญหาท้าทายอยู่ตลอด  สิ่งแวดล้อมในการทำงานแย่ลงหลายๆด้าน นอกเหนือจากความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมหรือเข่นฆ่า ซึ่งก็มีผลลบต่อคุณภาพและความหลากหลายของข่าวไม่น้อย

ในช่วงปีที่ผ่านมานักข่าวต้องระวังตัวในการติดต่อแหล่งข่าวที่ไม่ได้รู้จักดีนัก เพราะเกรงว่าสิ่งที่พูดคุยกันอาจจะรู้ถึงหูของรัฐบาลทหาร  ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษแบบนี้ นักข่าวบางคนถึงกับต้องปิดบังไม่ให้คนอื่นรู้ว่ากำลังทำอะไรหรือทำข่าวอะไรอยู่

นักข่าวหลายคนเริ่มระแวงสภาสื่อมวลชนเมียนมา (Myanmar Press Council) ซึ่งได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลทหารหลังจากที่สมาชิกดั้งเดิมได้ลาออกกันชุลมุนเมื่อมีรัฐประหารเกิดขึ้น ผู้นำรัฐประหารและผู้บัญชาการทหาร พลเอกอาวุโสมินอ่องหล่าย ได้กล่าวให้โอวาทในพิธีสาบานตนของสมาชิกใหม่สภาสื่อ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021

หลายที่ได้เริ่มจัดอบรมสื่ออิสระกันใหม่แล้ว ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย นักหนังสือพิมพ์มากประสบการณ์คนหนึ่งกล่าวว่าสื่อมืออาชีพจะต้องใช้ช่วงเวลามืดมนนี้พัฒนาทักษะของตนเอง เพื่อจะได้ฟื้นฟูอาชีพที่ถูกทำลายนี้ให้กลับมาเมื่อถึงเวลา “เราต้องทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเราต้องฝึกอบรมคนที่อยากจะเป็นนักข่าวในอนาคต” 

ก่อนรัฐประหารมีนักข่าวสื่อมวลชนประมาณ 6 พันคนในเมียนมา แต่แน่นอนว่าตัวเลขดังกล่าวลดลงไปมากแล้วในปัจจุบัน

คำถามที่ตอบได้ยาก

ขณะเดียวกันนักข่าวสื่อมวลชนต้องเผชิญกับคำถามรบกวนใจที่ตอบได้ยาก ว่าพวกเขามีมุมมองและใช้ชีวิตกับวิชาชีพนี้อย่างไร ท่ามกลางความขัดแย้งที่มิอาจละเลยได้

“ในช่วงแรกที่มีรัฐประหาร ฉันรู้สึกหดหู่ที่เห็นความโหดร้ายตอนไปทำข่าวการประท้วง ฉันร้องไห้ทุกวันและรู้สึกผิด จึงตัดสินใจที่จะเข้าร่วมกับ EAO (กองกำลังกลุ่มชาติพันธ์ุ)” นักข่าวโทรทัศน์วัย 30 ปีกล่าว เธอได้เข้าฝึกกับกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ทำหน้าที่ปกป้องชุมชนของตน และซุ่มโจมตีทหารในลักษณะสงครามกองโจร

หลายคนถามตัวเองว่าทำอย่างไรที่จะเป็นได้ทั้งคนข่าว เป็นพลเมือง และปัจเจกชนที่ต้องการให้ประเทศของตนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นทุกอย่างนี้ในเวลาเดียวกัน  บ้างก็ว่า “การไม่มีอคติ” และ “ความเป็นกลาง” ของสื่อมวลชนนั้น เทียบได้กับว่าย่อหย่อนในการต่อต้านรัฐบาลทหาร  แต่สื่อมวลชนอีกจำนวนหนึ่งก็เชื่อว่าสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างมืออาชีพ แล้วยังต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างเข้มแข็งด้วย

“ผมไม่อยากจะได้ความเห็นจากฝ่ายทหารเพื่อจะทำให้ข่าว ‘ไม่ลำเอียง’ ความจริงหนึ่งเดียวเกี่ยวกับการรัฐประหารก็คือพวกนั้นเป็นฆาตกร  ผมอยากจะรายงานข่าวที่เกิดขึ้นจริงโดยไม่ต้องไปถามทหาร เพราะยังไงพวกนั้นก็ไม่พูดความจริง (อยู่แล้ว)” นี่เป็นความเห็นของนักข่าวคนหนึ่งที่มีประสบการณ์งานสื่อร่วม 12 ปี “มนุษยธรรมสำคัญกว่าความเป็นมืออาชีพ”

แต่อดีตนักหนังสือพิมพ์หญิงคนหนึ่งซึ่งออกจากงานหลังเกิดการรัฐประหารเพื่อรายได้ที่มั่นคงกว่า ได้กล่าวว่า “ฉันคงทำงานนี้เลี้ยงชีพไม่ได้ (ตอนนี้) แต่ก็ยังเขียนข่าวอย่างมืออาชีพได้”

ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ความอยู่รอด เรื่องการเลี้ยงชีพหรือความเป็นมืออาชีพ งานสื่อมวลชนก็ยังคงอันตรายมากๆในประเทศเมียนมา ที่ยังคงตึงเครียดอยู่ และข่าวสารสามารถเป็นอาวุธได้เสมือนปืน

แต่แม้ในสภาวการณ์ที่ไม่เอื้อแบบนี้ ก็ยังมีอีกหลายคนที่เฝ้ารอช่วงเวลาที่ดีกว่าในอนาคต คนกลุ่มนี้มองว่าสื่อออนไลน์อิสระจะเป็นฐานเพื่อฟื้นฟูอาชีพสื่อที่ถูกทำลายในเมียนมาให้กลับมาใหม่  สื่อออนไลน์หลายแห่งยังคงเสนอข่าวอยู่แม้ว่าถูกยึดใบอนุญาตไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีสื่อออนไลน์ใหม่ๆเกิดขึ้นหลังรัฐประหารอีกด้วย

“ถึงจะเจอปัญหาท้าทายมากมายในช่วงนี้ แต่ฉันก็จะกลับไปเป็นนักข่าวอีก” นักหนังสือพิมพ์หญิงคนหนึ่งกล่าว

ร่วมรายงานโดย Johanna Son

Leave a Comment

© 2023 Reporting ASEAN – Voices and views from within Southeast Asia. All Rights Reserved.

Scroll to top