Home » COVID-19 » ไม่สนโควิด! ค้ายาเสพติดเฟื่องฟูในประเทศลุ่มน้ำโขง
COVID-19

ไม่สนโควิด! ค้ายาเสพติดเฟื่องฟูในประเทศลุ่มน้ำโขง

กรุงเทพฯ | 30 มิถุนายน 2564

ฉบับภาษาอังกฤษ

แม้ว่าโควิด-19 กำลังระบาดในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง แต่ยังมีธุรกิจหนึ่งซึ่งยังคงไปได้สวย ด้วยโอกาสใหม่ๆและความเสี่ยงที่ลดลง   เกิดมีบูรณาการในระดับภูมิภาค เมื่อสร้างช่องทางใหม่ๆในการขน “สินค้า” ข้ามแดน และกระจายไปสู่ลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

ดูเหมือนว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจแบบยืดหยุ่นที่เหมาะกับช่วงวิกฤตเช่นนี้  แต่จริงๆแล้วมันคืออุตสาหกรรมยาเสพติดสังเคราะห์ที่กำลังขยายตัวในเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์ ซึ่งครอบคลุมภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่เป็นศูนย์กลางการผลิตและค้ายาเสพติดผิดกฎหมาย แล้วส่งกระจายออกไปทั่วทวีปและทั่วโลก

“โควิด-19 มีผลกระทบน้อยมากๆ (ต่อการค้ายาเสพติดสังเคราะห์) ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” อินชิก ซิม (Inshik Sim) กล่าวในการอภิปรายเมื่อเดือนมิถุนายน เกี่ยวกับรายงานสถานการณ์การค้ายาเสพติดสังเคราะห์  เขาเป็นนักวิเคราะห์โครงการยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และแปซิฟิกของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC)  “แสดงให้เห็นว่ากลุ่มอาชญากรค้ายามีความยืดหยุ่นในการกระจายเมทแอมเฟตามีนและยาเสพติดสังเคราะห์อื่นๆไปทั่วเอเชียอาคเนย์”

UNODC รายงานว่าในปีค.ศ. 2020 เอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์ได้ยึดยาเสพติดเมทแอมเฟตามีนมากเป็นประวัติการณ์ จำนวนถึง 169 ตัน โดยร้อยละ 71 ของการจับกุมเกิดขึ้นในห้าประเทศลุ่มน้ำโขง คือกัมพูชา ลาว เมียนมา ไทยและเวียดนาม  ตัวเลขการยึดยาเสพติดเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีค.ศ. 2019 ที่จับกุมได้ 141 ตัน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

“ทุกประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ยกเว้นเวียดนาม มีการจับยึดเมทแอมเฟตามีนเพิ่มขึ้นมาก แม้ว่าจะมีโควิด-19 ในปี 2020” ซิมกล่าวเสริม  แต่ในทางตรงข้าม ประเทศเอเชียตะวันออกมีการจับกุมยาเสพติดชนิดนี้ในอัตราที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2013

ภาพแสดงการไหลเวียนของยาไอซ์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์

ฐานการผลิตหลักยาเสพติดสังเคราะห์ยังคงเป็นโรงงานลับในรัฐฉานของเมียนมา ซึ่งอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ  นับตั้งแต่ปี 2015 บริเวณดังกล่าวนี้ ซึ่งเดิมมีการผลิตเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนในรูปแบบเม็ด ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนมาผลิตยาไอซ์ (เมทแอมเฟตามีนชนิดผลึกใส) และยาเสพติดสังเคราะห์ชนิดอื่นๆ รวมถึงเคตามีนด้วย

“อุตสาหกรรม” นี้เฟื่องฟูอย่างมากในยุคโรคระบาดใหญ่ ที่มาพร้อมกับการจำกัดการเดินทาง การตรวจตราชายแดนเข้มงวด และเศรษฐกิจโลกตกต่ำที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ นี่เป็นข้อสังเกตของ UNODC และผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดหลายคน

องค์กรอาชญากรรมที่ผลิตยาเสพติดได้ปรับเปลี่ยนวิธีการกระจายยาเสพติดสังเคราะห์ โดยการขนส่งทางทะเล ผ่านไทยและอีกหลายประเทศ และค้ายาผ่านช่องทางออนไลน์  โดยยาเสพติดที่ได้นั้นผลิตจากสารเคมีสังเคราะห์ เลียนแบบผลที่เกิดจากสารเสพติดผิดกฎหมาย  การผลิตขยายตัวสู่ประเทศกัมพูชา และมีการกระจายยาเสพติดผ่านประเทศลาว ซึ่งต่างก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพน้อยในการจับยึดยาเสพติดและตรวจพิสูจน์สารเคมีที่ใช้ในการผลิต  ข้อมูลดังกล่าวมาจากรายงานสถานการณ์ยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์ (‘Synthetic Drugs in East and Southeast Asia: Latest Developments and Challenges’) ซึ่ง UNODC ได้เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน

“เราพบว่ามีการลักลอบขนส่งทางทะเลมากขึ้น จากประเทศไทยไปประเทศที่สาม” พ.ต.ท. ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

ได้กล่าวในการเสวนาที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand)  “กลุ่มอาชญากรที่ผลิตยาเสพติดได้ใช้เทคนิคใหม่ๆ อย่างเช่นขายยาผ่านช่องทางออนไลน์ และทำธุรกิจทางโซเชียลมีเดีย”

เขาเสริมว่าการขนส่งยาเสพติดทางทะเลจากประเทศไทยไปยังประเทศต่างๆ เช่นออสเตรเลีย ฮ่องกงหรือฟิลิปปินส์นั้น ที่ถูกจับยึดได้ส่วนใหญ่จะเป็นยาไอซ์ และมียาอี (ecstacy) บ้าง โดยถูกซุกซ่อนในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และกรอบรูป  ยาไอซ์ที่ผลิตจากสามเหลี่ยมทองคำยังถูกบรรจุในถุงชา โดย “ยี่ห้อ” ที่พบบ่อยสุดในปี 2020 คือ “Guanyinwang”

เจเรมี ดักลาส (Jeremy Douglas) ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และแปซิฟิก ได้กล่าวว่าพวกกลุ่มอาชญากรได้ใช้ “เรือแม่” รวบรวมยาเสพติดที่เรือเล็กเรือน้อยลักลอบขนออกมาจากบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีและจากชายฝั่งทะเลอันดามันของเมียนมา ก่อนที่จะนำไปส่งยังจุดหมาย  “เรือพวกนี้มักจะทำการสลับธงชาติ เปลี่ยนชื่อเรือ พวกนี้เป็นกลุ่มเรือประมงพร้อมลูกเรือ ที่เป็นแค่เบี้ยในเกมนี้”

เมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 ยามชายฝั่งของมาเลเซียได้จับยึดยาไอซ์ปริมาณ 2.2 ตัน บนเรือเครื่องยนต์เล็กที่ออกมาจากชายฝั่งด้านตะวันตกของไทย ผ่านช่องแคบมะละกาไปยังปีนังของมาเลเซีย โดยมีจุดมุ่งหมายที่อินโดนีเซีย 

กระบวนการค้ายาเสพติดสังเคราะห์ได้มีการขยายฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานด้วยเช่นกัน  “ตอนนี้ไม่ได้มีแค่รัฐฉานในเมียนมาเท่านั้น เราพบว่ามีการผลิตยาเสพติดสังเคราะห์ในกัมพูชาเพิ่มมากขึ้นด้วย” ซิมกล่าว

แค่ค.ศ. 2020 เพียงปีเดียว กัมพูชาได้กวาดล้างโรงงานผลิตเมทแอมเฟตามีนและยาเสพติดสังเคราะห์อื่นๆถึง 5 แห่ง  ในเดือนสิงหาคมของปีนั้น กัมพูชาได้รายงานว่ามีการยึดสารเมทิลอัลฟา-ฟีนิลแอซีโทอาเซเตต (methyl alpha-phenylacetoacetate) หรือ MAPA ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตเมทแอมเฟตามีน มากถึง 1.9 ล้านตันที่เมืองสีหนุวิลล์ ซึ่งอยู่ชายฝั่งอ่าวไทย  โดยซิมบอกว่านี่เป็นการยึดสารดังกล่าวเป็นครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์

จากข้อมูลในรายงานของ UNODC  “สปป. ลาวกลายเป็นจุดพักยาและลักลอบค้าเมทแอมเฟตามีนและสารเคมีที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ” นอกจากเส้นทางปกติที่ใช้ขนยาเสพติดระหว่างเมียนมาและภาคเหนือของไทยแล้ว ผู้ผลิตเริ่มใช้ลาวเป็นจุดเชื่อมในการลักลอบนำยาเสพติดเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงที่มีการคุมเข้มตามชายแดนด้านตะวันตก

มีการจับยึดเมทแอมเฟตามีนและยาไอซ์บริเวณชายแดนไทย-ลาวเพิ่มมากขึ้น  ยาไอซ์จำนวนมากถึง 5.7 ตันถูกยึดได้ใน 12จังหวัดภาคอีสานของไทยในปีค.ศ.  2020 เพิ่มจาก 266 กิโลกรัมในปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ยังมีการยึดสารเคมีที่ใช้ในการผลิตเมทแอมเฟตามีน โดยถูกลักลอบนำเข้าจากประเทศลาว เพื่อส่งต่อไปยังรัฐฉานในเมียนมา  ซึ่ง UNODC ได้ระบุว่าประเทศลาวกลายเป็น “ศูนย์กลางสำคัญในการส่งต่อสารเคมี”

เจ้าหน้าที่ลาวได้รายงานว่าในปีที่แล้ว สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดถูกยึดได้รวม 125 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับแค่ 13 ตันเมื่อปีก่อนหน้านั้น

ในเดือนกรกฎาคม 2020 ลาวยึดสารโพรไพโอนิลคลอไรด์ (propionyl chloride) ได้ถึง 72 ตันที่บริเวณท่าเรือบ้านมอม ในแขวงบ่อแก้ว ริมแม่น้ำโขง   โพรไพโอนิลคลอไรด์ไม่ได้เป็นสารเคมีควบคุม แต่สามารถจะแปรรูปให้เป็นเอฟิดรีน (ephedrine) ที่ใช้ในการผลิตเมทแอมเฟตามีนได้  สินค้าดังกล่าวถูกขนส่งทางเรือผ่านแม่น้ำโขง จากประเทศจีนมายังไทย และมีปลายทางคือเขตปกครองพิเศษที่ 4 ของเมียนมา (เมืองลา) แต่ถูกทางการลาวจับกุมได้ก่อน

ปัญหาหลักคือการที่เอเชียตะวันออกและเอเชียอาคเนย์เป็นศูนย์กลางของโลกในการผลิตสารเคมีหลายชนิด ซึ่งถูกกฎหมายและไม่ได้เป็นสารเคมีควบคุม  กลุ่มอาชญากรในพื้นที่ได้นำสารเคมีดังกล่าวมาใช้เป็นส่วนผสมใหม่ๆในการผลิตยาเสพติด แล้วส่งออกไปยังตลาดในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ

รายงานของ UNODC ระบุว่า “อุปทานมหาศาล” ของยาเสพติดสังเคราะห์ทำให้ราคาลดลงอย่างมาก แต่กลับช่วยทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้น  ราคายาไอซ์ลดลงหลายเท่าในประเทศกัมพูชา ไทยและมาเลเซียในปีค.ศ. 2020  ราคาขายยาไอซ์ในกัมพูชาตกลงจากกิโลกรัมละ 38,000 ดอลลาร์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เหลือเพียง 7,000 ดอลลาร์

รายงานดังกล่าวได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมทแอมเฟตามีนถูกยึดได้มากขึ้น แต่ก็มีผู้เสพมากขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียอาคเนย์กำลังจะกลายเป็นตลาดสำคัญสำหรับยาเสพติดสังเคราะห์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่แหล่งผลิตเท่านั้น  พบว่าการใช้ยาไอซ์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าระหว่างปีค.ศ. 2016 ถึง 2019 โดยที่ตัวเลขการยึดยาไอซ์แต่ละปีเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า  ในเวียดนามก็มีแนวโน้มลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ในระหว่างปี 2017 ถึง 2019

ตัวเลขชี้ว่าการใช้เมทแอมเฟตามีนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก

กลวิธีที่เปลี่ยนไป

พ.ต.ท. ไพศิษฎ์จากป.ป.ส. และเจ้าหน้าที่ของ UNODC ระบุว่า แนวทางที่ใช้ในการตัดวงจรอุปสงค์ยาเสพติดสังเคราะห์ต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะว่าแค่จับกุมผู้ขายรายย่อยและยึดยาเสพติดนั้น ไม่สามารถจะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมยาเสพติดที่เป็นองค์กรอาชญากรรมได้

ไพศิษฎ์กล่าวว่าไทยได้ผลักดันให้ประเทศต่างๆร่วมมือกันตัดการลำเลียงสารเคมีตั้งต้นไปป้อนให้โรงงานผลิตยาเสพติด และให้ช่วยกันยึดทรัพย์กลุ่มอาชญากรที่เกี่ยวข้อง  “เราพบว่า (การจับกุมและยึดยาเสพติด) ไม่ได้ช่วยอะไรมาก  คุณจับได้แต่คนขนยาและผู้ค้ารายย่อย ถ้าวันนี้จับยาบ้า (เมทแอมเฟตามีนผสมคาเฟอีน) ได้ล้านเม็ด พรุ่งนี้พวกนั้นก็จะผลิตเพิ่มขึ้นอีก”

ดักลาสเห็นด้วยและเสริมว่า “ถ้าคุณเล่นงานธุรกิจที่พวกนั้นใช้ฟอกเงิน ไม่ว่าจะเป็นบ่อนคาสิโนแถวสามเหลี่ยมทองคำ หรือบ่อนออนไลน์ มันจะมีผลมากๆ เราต้องเน้นการบังคับใช้กฎหมายไปในทางนั้น”

การจับกุมยาเสพติดครั้งสำคัญๆในปี 2020 มักเกิดขึ้นตรงบริเวณชายแดน ใกล้กับโครงการที่มุ่งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างในภูมิภาคผ่านท่าเรือและช่องทางคมนาคมระหว่างประเทศ  เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 ประเทศลาวจับยึดสารเคมีครั้งใหญ่ได้ที่ท่าเรือบ้านมอม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่จะช่วยให้การเดินเรือในลำน้ำโขงสะดวกขึ้น ซึ่งสนับสนุนโดย 4 ประเทศเพื่อนบ้าน  รายงานของ UNODC ระบุว่าการจับกุมครั้งนั้นมีขึ้นที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ที่ข้ามแม่น้ำโขง

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงประเทศลุ่มน้ำโขงมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1990 (ประมาณ 30 ปีที่แล้ว) ได้ถูกกลุ่มอาชญากรข้ามชาติใช้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน ในการค้ายาเสพติดและอาวุธผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในเมียนมาหลังการรัฐประหาร

ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ (Richard Horsey) ที่ปรึกษาด้านเมียนมาของกลุ่มวิกฤตการณ์นานาชาติ (International Crisis Group) ได้กล่าวกับสื่อเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า “การเชื่อมโยงในภูมิภาคมีความเสี่ยงที่ธุรกิจนอกกฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชญากรติดอาวุธที่มีอิทธิพล จะเข้ามาใช้ประโยชน์และเติบโตไปพร้อมกับการเชื่อมโยงระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน”

(* โจฮันนา ซัน เป็นบรรณาธิการและผู้ก่อตั้ง Reporting ASEAN)

Leave a Comment

© 2023 Reporting ASEAN – Voices and views from within Southeast Asia. All Rights Reserved.

Scroll to top