Home » COVID-19 » เอเชียอาคเนย์สู้โควิด: คำว่า “พวกเรา” ต้องรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย
COVID-19

เอเชียอาคเนย์สู้โควิด: คำว่า “พวกเรา” ต้องรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย

Read this in English | in Burmese

กัวลาลัมเปอร์  | 6 April 2021

ที่พักของแรงงานข้ามชาติในเมืองคาจัง ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย เพียงแค่ 30 กิโลเมตรนั้น มีสภาพราวกับคอกกระบือ คือสกปรกและมีกลิ่นเหม็น  เมื่อตอนที่เจ้าหน้าที่ทำการกวาดล้างและจับกุมในเดือนธันวาคมนั้น รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซีย นายเอ็ม ซาราวานัน (M Saravanan) ถึงกับตกตะลึงเมื่อได้ทราบว่าแรงงานต่างชาติ 751 คนของโรงงานผลิตถุงมือ อาศัยอยู่ในคอนเทนเนอร์สูง 1.5 เมตร 2 ตู้ ซึ่งปกติจะรองรับได้แค่ 100 คนเท่านั้น

ซาราวานันได้เปิดเผยว่า 9 ใน 10 ของแรงงานข้ามชาติในประเทศมาเลเซีย อาศัยอยู่ในที่พักซึ่งไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐบาลที่กำหนดไว้สำหรับคนงาน

ส่วนในสิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านนั้น เมื่อก่อนเป็นเรื่องปกติที่มีแรงงานข้ามชาติถึง 20 คนอยู่รวมกันในห้องเล็กๆที่มีเตียง 2 ชั้น เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดว่าที่พักคนงานข้ามชาติจะมีผู้อาศัยมากสุดได้เท่าใด แต่เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 ขึ้น จำเป็นต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งจะไม่สามารถทำได้เลยหากคนงานต้องอาศัยอยู่ในห้องแคบๆรวมกัน

สรุปแล้วโรคระบาดโควิด-19 เผยให้ชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ได้รับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศของตน แต่กลับเหมือนไม่มีตัวตนให้ได้เห็น

เอเดรียน เปไรร่า (Adrian Pereira) ผู้อำนวยการบริหารของเอ็นจีโอ North South Initiative ในประเทศมาเลเซียได้กล่าวว่า สภาพความเป็นอยู่ที่คับแคบและไม่สะอาด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โควิด-19 แพร่กระจายในสองประเทศนี้  โควิด-19 ให้บทเรียนที่ว่าไม่ควรจะมีการแบ่งแยกในเรื่องการปกป้องทางสังคม ระหว่างแรงงานข้ามชาติและพลเมืองทั่วไป เนื่องจากไวรัสไม่แยกแยะระหว่างคน 2 กลุ่มนั้น 

แต่โควิด-19 ได้อยู่กับเรามากว่า 1 ปีแล้ว ความเข้าใจในสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติ ได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ในชุมชนของประเทศอาเซียนที่รับแรงงานดังกล่าว?

คำตอบจากนักกิจกรรมที่ณรงค์สิทธิแรงงานข้ามชาติคือ “ไม่ค่อยเท่าไหร่” แม้ว่าเมื่อปีที่แล้วชาวสิงคโปร์ส่วนหนึ่งได้เริ่มยื่นมือช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ หลังจากที่ได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของคนงาน

แอนดี้ ฮอลล์ (Andy Hall) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (เขาพำนักในเนปาล) กล่าวว่าก่อนหน้านี้ไม่มีใครสนใจสภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน เพราะชาวมาเลเซียและสิงคโปร์ส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ความทุกข์ระทมของคนเหล่านั้น  “แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ขึ้นผู้คนตระหนักว่าที่อยู่อาศัยมีผลกับประชาชนทั่วไปรวมทั้งสุขภาพด้วย ดังนั้นจึงได้ตัดสินใจที่จะปรับปรุงแก้ไขในเรื่องนี้”

เปไรร่าตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีคําพูดแสดงความเกลียดชัง (hate speech) ต่อต้านแรงงานข้ามชาติ เพิ่มขึ้นมากมายในโซเชียลมีเดีย 

ฮอลล์บอกว่าสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานอพยพต่างชาติในสิงคโปร์นั้น “แย่มากๆ” ก่อนที่รัฐบาลจะผลักดันให้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในช่วงเกิดโควิด  “เราพบว่านายจ้างไม่อนุญาตให้คนงานออกไปซื้อของนอกโรงงานหรือที่อยู่อาศัย ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามเพราะนายจ้างมีอำนาจเหนือกว่า”

“เมื่อบริษัทนายทุนและรัฐบาลอย่างมาเลเซียต้องการคนงาน ก็จะรับเข้าไป แต่เมื่อใดที่ไม่ต้องการคนงาน พวกเขาก็จะทิ้งง่ายๆ” นักกิจกรรมด้านแรงงานกล่าว

มาเลเซียและสิงคโปร์ (รวมทั้งประเทศไทยด้วย) เป็นจุดหมายสำคัญของแรงงานข้ามชาติในอาเซียน  ธนาคารโลกประมาณว่ามีแรงงานข้ามชาติในมาเลเซีย 3.26 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 20 ของแรงงานทั้งหมด  ส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เนปาลและบังกลาเทศ โดยมักทำงานบ้าน ก่อสร้างและการเกษตร  ส่วนในประเทศสิงคโปร์นั้นมีแรงงานข้ามชาติเกือบ 1.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 5.9 ล้าน  ส่วนใหญ่มาจากประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและบังคลาเทศ  คนงานอพยพมีมากถึงร้อยละ 37 ของคนในภาคแรงงานของสิงคโปร์

มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลังเกิดโควิด สิงคโปร์ได้ประกาศว่าเริ่มสร้างที่พักคนงานแบบแออัดน้อยลงเพิ่มมากขึ้น

รัฐบาลมาเลเซียได้บังคับใช้มาตรฐานใหม่สำหรับนายจ้างปฏิบัติในการจัดที่พักให้กับลูกจ้าง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563 ยกตัวอย่างเช่น คนงานจะนอนรวมกันบนที่นอนและเตียงเดี่ยวไม่ได้ แล้วนายจ้างยังต้องจัดเตรียมน้ำและไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับที่พักคนงาน

แต่ในช่วงโควิดนี้แรงงานข้ามชาติต้องพบเจอกับการกีดกันมากขึ้น ทำให้กลายเป็นกลุ่มอาชีพที่เปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

โดยปกติแล้วคนกลุ่มนี้ไม่อยู่ในกลไกการป้องกันทางสังคม เช่น ความช่วยเหลือด้านการเงินที่ให้กับคนงานของชาตินั้นในกรณีที่ต้องหยุดงานเพราะว่าโควิด-19  โจโลวัน วัม (Jolovan Wham) นักสังคมสงเคราะห์ในสิงคโปร์ที่ทำงานกับองค์กร Transformative Justice Collective ได้กล่าวว่า “ไม่ค่อยมีมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินกับแรงงานข้ามชาติเท่าใดนัก ต่างจากที่รัฐบาลทำให้กับคนงานของชาติตนมากๆ  แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสก็ยังต้องอยู่ในหอพักของตัวเอง ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปไหนได้อย่างเสรี หลายคนยังต้องตกงานด้วย”

ที่พักคนงานข้ามชาติของบริษ้ทผลิตถุงมือแห่งหนึ่งในมาเลเซีย (ภาพจากแอนดี้ ฮอลล์)

ลี ฮ็อก อัน (Lee Hwok Aun) นักวิชาการอาวุโสของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์ ระบุว่าโรคระบาดโควิดเผยให้เห็นชัดเจนขึ้นว่าคนงานข้ามชาติที่ประสบวิกฤตนั้น มีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่อย่างไร  เขากล่าวว่าโรคระบาดครั้งนี้ทำให้แรงงานต่างด้าวหลายคนมีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะต้องทำงานในสายการผลิตหรือทำงานเป็นกลุ่มใหญ่ และไม่สามารถจะทำงานจากที่บ้านหรือทำงานในลักษณะอื่นๆได้

แต่ลีก็กล่าวเพิ่มว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีด้วยเช่นกัน อย่างเช่นตอนนี้แรงงานข้ามชาติสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมของมาเลเซียได้

ฮอลล์มองในมุมที่กว้างขึ้น โดยกล่าวว่าโควิด-19 ไม่เพียงแค่เปิดโปงปัญหาการปกป้องทางสังคมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานด้วย  “เมื่อบริษัทนายทุนและรัฐบาลอย่างมาเลเซียต้องการคนงาน ก็จะรับเข้าไป  แต่เมื่อใดที่ไม่ต้องการคนงาน พวกเขาก็จะทิ้งง่ายๆ”

ฮอลล์กล่าวว่า “เราพบคนงานที่ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ แค่นั้นยังไม่พอ ยังเป็นหนี้ด้วยจากการที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆก่อนเข้าทํางาน  โควิด-19 ทำให้เราเห็นว่าแรงงานย้ายถิ่นทั้งระบบนั้นเหลวแหลกและไร้ระเบียบ คนงานได้รับการปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์” เขาเสริมว่าสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์

ไม่มีใครเลยจะปลอดภัยจากโควิดถ้าทุกคนยังไม่ปลอดภัย  ในแผนฟื้นฟูจากสถานการณ์โควิด-19 อาเซียนได้กำหนดพันธสัญญาที่จะปรับปรุงการปกป้องทางสังคมให้กับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งรวมถึงการประกันสุขภาพที่คนงานสามารถใช้เมื่อไปต่างประเทศด้วย  หากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง อาเซียนจะก้าวหน้าไปอีกขั้น เพิ่มเติมจากเอกสาร “มติเอกฉันท์” ในเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ได้ปรากฏเมื่อปีพ.ศ. 2560

ลีให้ความเห็นว่าแนวคิดในเรื่องนี้เหมาะกับสถานการณ์และจำเป็นอย่างยิ่ง “แต่เราก็ไม่อาจจะมั่นใจได้ว่าอาเซียนจะนำไปปฏิบัติจริงตามที่พูดหรือไม่ หรือจะทำอย่างไร”  นอกจากนี้ในแต่ละประเทศสมาชิกก็ยังมีมาตรฐานที่ต่างกันในเรื่องของกฎหมายแรงงานและการปกป้องทางสังคม

เปไรร่ามองว่าอย่างน้อยก็มีการเริ่มต้นแล้ว “เรื่องนี้น่ายินดีอย่างยิ่ง เป็นมาตรฐานทางจริยธรรม หวังว่าสักวันหนึ่งจะมีผลบังคับทางกฎหมาย”

ฮอลล์บอกว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ “อาเซียนได้พูดถึงประเด็นการปกป้องทางสังคม แต่ในประเทศสมาชิกเองก็ไม่ได้มีการปกป้องทางสังคมที่เหมาะสมให้กับคนงานของชาติตัวเอง  ดังนั้นแนวคิดในเรื่องการปกป้องทางสังคมให้แรงงานข้ามชาติจึงดูจะเป็นไปได้ยาก”

เปไรร่ากล่าวว่าคนงานข้ามชาติมีความสำคัญกับตลาดแรงงานและเศรษฐกิจของทั้งมาเลเซียและสิงคโปร์อย่างมาก ดังนั้นจะต้องมีการปกป้องสังคมให้คนเหล่านี้เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น  “ผมไม่คิดว่าผู้นำประเทศของเราจะมีทางเลือกอื่นอีก”

ภาพจากแอนดี้ ฮอลล์

ลีคาดว่านายจ้างในมาเลเซียจะล็อบบี้อย่างหนักไม่ให้มีการบังคับใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ  แต่เนื่องจากมาเลเซียได้ขยายสิทธิประโยชน์ครอบคลุมอุบัติเหตุและการบาดเจ็บที่เกิดกับคนงานข้ามชาติในขณะทำงาน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการสนับสนุนเรื่องนี้ (การประกันสุขภาพที่ครอบคลุมตอนทำงานต่างประเทศด้วย) ในระดับภูมิภาคอาเซียน

กลไกทางสังคมแบบใดที่จะมีประโยชน์มากที่สุดสำหรับคนงานข้ามชาติในมาเลเซียและสิงคโปร์?

ลีมีความเห็นว่า “รัฐบาลต้องเป็นผู้นำในการกำหนดประเด็น และเป็นองค์กรอำนาจหลักในการประสานงานและไกล่เกลี่ย” 

เปไรร่ากล่าวว่า “เราต้องทำให้สหภาพแรงงานในมาเลเซียมีความแข็งขันและเข้มแข็ง โดยให้โอกาสแรงงานข้ามชาติมีบทบาทจริงจังในสหภาพ”

วัมเสริมว่า “แรงงานข้ามชาติต้องได้รับการประกันสุขภาพที่ครอบคลุม รัฐบาลก็ต้องทำอะไรมากกว่านี้ที่จะลดผลกระทบจากโควิดต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน”

ส่วนฮอลล์ได้กล่าวว่า “กลไกปกป้องทางสังคมสำหรับแรงงานข้ามชาติควรจะเหมือนกับที่คนงานของชาตินั้นได้รับ”

มาเลเซียมีคำขวัญโควิดยอดฮิตคือ “Kita Jaga Kita” ซึ่งแปลว่า “เราจะดูแลกันและกัน” ส่วนในสิงคโปร์ก็มีคำขวัญว่า “ร่วมกันเราชนะได้”  คำว่า “เรา” นี้ควรจะนับรวมแรงงานข้ามชาติด้วยเช่นกัน

(* บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในชุด Lens Southeast Asia ของโครงการ Reporting ASEAN)

Leave a Comment

© 2023 Reporting ASEAN – Voices and views from within Southeast Asia. All Rights Reserved.

Scroll to top