Home » #mediaonmedia » สื่อมวลชนเมียนมาจับตาและเฝ้าคอยอย่างหวั่นๆเมื่อมีรัฐประหาร
#mediaonmedia

สื่อมวลชนเมียนมาจับตาและเฝ้าคอยอย่างหวั่นๆเมื่อมีรัฐประหาร

8 กุมภาพันธ์ 2564 | กรุงเทพฯ

“คงจะมีอะไรแย่ๆเกิดขึ้นอีกแน่” นักข่าวคนหนึ่งกล่าว อีกคนบอกว่า “พวกเราอาจโดนจับเมื่อไหร่ก็ได้” สื่อมวลชนคนอื่นๆพูดถึง “ช่วงเวลาที่มืดมน” “จับต้นชนปลายไม่ถูก” แล้วก็ความรู้สึกที่ “ไม่ปลอดภัยและไม่มั่นคง”

สิ่งที่สื่อมวลชนเมียนมาพูดถึงนั้นสะท้อนให้เห็นความเครียดที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์โดยกองทัพ ซึ่งประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี

เหล่าบรรดาผู้มีอาชีพสื่อมวลชนต้องตกอยู่ในวังวนของความไม่แน่นอน ในอนาคตของตัวเองและของครอบครัว เกิดความสงสัยว่าในภาวะเช่นนี้ สื่อมวลชนจะทำหน้าที่ได้มากน้อยเพียงใด และจะมีอิสระแค่ไหน หลังจากที่เมียนมามีการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยมาได้แค่ราว 1ทศวรรษเท่านั้น

“สื่อมวลชนเกือบทุกคนไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้” นักข่าวชายคนหนึ่งกล่าว เขาเป็นหนึ่งในคนที่ติดตามความขัดแย้งในประเทศของตนมาตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปีค.ศ. 1948 “ก็คงเหมือนอย่างเคย คือสื่อมวลชนจะเป็นเป้าถัดไป (หลังจากคณะรัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเรือน)”

สื่อมองว่าผู้มีอำนาจกลุ่มใหม่ซึ่งมีชื่อว่า “สภาบริหารแห่งรัฐ” (State Administration Council) ได้แสดงจุดยืนชัดเจนในแถลงการณ์ฉบับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีข้อความว่า “องค์กรสื่อและประชาชนบางส่วนได้เผยแพร่ข่าวลือในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้เกิดจลาจลและสร้างสถานการณ์กระทบความมั่นคง” โดยมีการเตือนให้หยุดการกระทำดังกล่าวและให้ร่วมมือกับรัฐบาลใหม่

หลังจากนั้นระบอบทหารของเมียนมาก็ได้เริ่มเข้าควบคุมโซเชียลมีเดีย อย่างเช่น Facebook, Twitter และ Instagram  ได้มีคำสั่งให้ปิดอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ตอนที่เกิดการประท้วงที่ย่างกุ้งและเมืองอื่นๆ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารและเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้นำคนก่อน นางอองซาน ซูจี และประธานาธิบดีวิน มยิน  แต่อินเทอร์เน็ตก็กลับมาใช้ได้ในวันรุ่งขึ้น มีการถ่ายทอดสดการประท้วงที่ดำเนินต่อไป 

นักข่าวรายงานว่าหน่วยงานข่าวสารของทหารและรัฐบาลใหม่ รวมทั้งเพจสื่อโซเชียลมีเดียในเครือ ได้กล่าวหาองค์กรสื่อเอกชนอิสระว่าปล่อยข้อมูลเท็จหลังการรัฐประหาร  แม้ว่าสื่อจะยังไม่ถูกปิดแต่ก็ถูกจำกัดอิสระมากในการรายงานข่าวหรือวิพากย์วิจารณ์อย่างเปิดเผย

ผู้สื่อข่าวหญิงคนหนึ่งกล่าวว่าแถลงการณ์วันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นสัญญาณว่านักข่าวมีความเสี่ยงสูงในการทำงาน  นักข่าววัย 20 กว่าเสริมว่า “พวกเรากังวลว่าอาจตกเป็นเป้า ก็เลยเลี่ยงที่จะโพสต์เรื่องการเมือง”  ส่วนนักหนังสือพิมพ์อายุ 30 ปีที่เคยมีปัญหากับกองทัพ บอกว่าสื่อมักจะเป็นเป้าที่สองหลังการรัฐประหาร

ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สื่อจะเป็นเป้าเมื่อมีการรัฐประหาร  แต่ในการยึดอำนาจครั้งนี้ คาดกันว่าสื่อมวลชนเมียนมาจะได้รับความเสียหายอย่างมาก หากกองทัพกลับมาครองอำนาจนานอีกหลายปี เพราะว่าสื่อมวลชนประเทศนั้นเพิ่งได้มีเสรีภาพมาไม่นานหลังจากที่ทหารอยู่ในอำนาจกว่า 5 ทศวรรษ ซึ่งมีการปกครองแบบอำนาจนิยมและแยกตัวโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก  แล้วเมียนมาก็เป็นสังคมที่สื่อมวลชนยังไม่เข้มแข็งมากนัก

ไม่ใช่แค่กองทัพเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายกลุ่มที่มองสื่อมวลชนว่าเป็นศัตรูหรือเป็นผู้เล่นทางการเมืองที่ไม่เป็นกลาง  พวกนี้ไม่ได้มองสื่อว่าเป็นสถาบันหนึ่งที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมหรือสร้างความเข้าใจให้กับสังคม

“กองทัพไม่ได้มองสื่อมวลชนว่าทำหน้าที่รายงานข้อมูลข่าวสารหรือเป็นปากเป็นเสียงให้กับสาธารณชน” นักข่าวคนหนึ่งกล่าว จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยสร้างความโกรธเคืองให้กับกองทัพ  “พวกเรารับรู้ความโกรธของทหารที่แฝงอยู่ในช่วงแถลงข่าว  พวกเขาไม่ให้เกียรตินักข่าวเลย  บางครั้งเราถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับหรือเป็นสวะสังคม”

รัฐบาลของซูจีเองก็ไม่เคยปกป้องสื่อมวลชนอย่างจริงจัง ไม่ได้ช่วยเสริมโครงสร้างสังคมให้มากพอเพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ของตนได้ดี  มีหลายครั้งในสมัยรัฐบาลก่อน ที่นักข่าวถูกฟ้องร้องหรือถูกตัดสินว่าผิดภายใต้กฎหมายที่เป็นโทษต่องานสื่อมวลชน

เมื่อต้องดูแลตัวเอง นักข่าวจึงต้องพึ่งพาอาศัยสถาบันซึ่งมีหน้าที่ปกป้องสื่อมวลชน ด้วยเกรงว่าอาจต้องยอมจำนนเมื่อถูกกองทัพกดดันมากๆ

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ สภาสื่อมวลชนเมียนมาได้ออกแถลงการณ์ประท้วงการจำกัดการทำงานของสื่อ เช่นการปิดคลื่นที่ใช้โดยสำนักข่าว Mizzima News และ Democratic Voice of Burma รวมถึงการข่มขู่ผู้สื่อข่าว โดยได้อ้างว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้เฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้สื่อข่าวในโซเชียลมีเดีย  ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ สภาสื่อฯได้มีคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยในการรายงานข่าว โดยบอกว่า “ไม่มีข่าวใดที่สำคัญไปกว่าชีวิตของคุณ”

สื่อมวลชนอาชีพในเมียนมามีคำถามสำคัญที่ว่า ประเทศของตนจะหวนกลับไปเป็นแบบในอดีตอีกครั้งหรือไม่

หลังจากเกิดรัฐประหาร นักข่าวที่เคยรายงานข่าวเกี่ยวกับโรฮิงญา ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และธุรกิจของคนในกองทัพ ต่างก็ระมัดระวังตัวมากขึ้นกว่าเดิม โดยเลือกสิ่งที่จะโพสต์และอยู่เงียบๆ  ตัวสื่อมวลชนเองและกองบรรณาธิการเน้นความปลอดภัยทั้งในแง่กายภาพและในโลกดิจิทัลในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้

สื่อมวลชนหลายคนที่อยู่ในวัย 20 และ 30 กว่าๆได้รับรู้เรื่องการเซ็นเซอร์ในเมียนมาเมื่อหลายทศวรรษก่อน แต่ยังไม่เคยมีประสบการณ์โดยตรง  “นักข่าวหนุ่มสาวหลายคนไม่เคยเจอการรัฐประหาร นอกจากการปฏิวัติชายจีวร (Saffron Revolution) เมื่อปีค.ศ. 2007” นักข่าวในวัย 30 กล่าว โดยที่เขาเคยรายงานข่าวในช่วงนั้นที่พระภิกษุพม่านำการประท้วงรัฐบาล

นักข่าวหลายคนถูกคุกคามและถูกฟ้องร้อง หลายคนถูกสั่งจำคุกภายใต้กฎหมายโทรคมนาคมหรือพระราชบัญญัติความลับของทางราชการ

จะกลับไปเป็นแบบในอดีตอีกหรือไม่?

สื่อมวลชนอาชีพในเมียนมามีคำถามสำคัญที่ว่า ประเทศของตนจะหวนกลับไปเป็นแบบในอดีตอีกครั้งหรือไม่

ก่อนที่ทหารจะถอยออกจากการเมืองในปีค.ศ. 2010 อาชีพสื่อสารมวลชนในเมียนมาแทบจะไร้ความหมาย ประเทศนั้นอยู่ใต้การปกครองของทหารเป็นเวลา 4 ทศวรรษหลังจากการรัฐประหารเมื่อปีค.ศ. 1962  เมื่อมีการปราบปรามการลุกฮือที่นำโดยนักศึกษาเมื่อปีค.ศ. 1988 สื่อพลัดถิ่นเริ่มมีบทบาทขึ้นหลังการก่อตั้งในประเทศไทย อินเดีย ทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่ได้ถูกปิดกั้นการเข้าถึงจากในประเทศเมียนมา  สื่อพลัดถิ่นพวกนี้รวมถึงรายการวิทยุจากนอกประเทศ กลายเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ของชาวเมียนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ

อดีตทำให้ผู้สื่อข่าวหลายคนหวาดกลัวได้ แต่การกลับมาของทหารครั้งนี้ต่างจากในอดีตอย่างไรบ้าง?

โลกปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากยุคทศวรรษ 1980 และปีค.ศ. 2007 หรือแม้แต่ในช่วงแค่ 10 ปีหลังนี้ ก็เพราะมีโลกดิจิทัลเกิดขึ้นมา  การจะปิดประเทศโดยสิ้นเชิงคงทำไม่ได้ง่ายๆอีกแล้ว  ชาวเมียนมาหลายคนซึ่งรวมถึงนักข่าวหนุ่มสาว เติบโตมาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตและการเข้าถึงโลกกว้างง่ายๆแค่ปลายนิ้ว  ชาวเมียนมาประมาณ 28.7 ล้านคนหรือร้อยละ 52 ของประชากร 54 ล้านต่างก็ใช้เฟซบุ๊ก

ส่วนกองทัพซึ่งมีทีมข่าวที่เรียกว่า Tatmadaw True News ก็เห็นประโยชน์ของโลกออนไลน์เช่นกัน  หลังการรัฐประหาร หน้าเพจเฟซบุ๊กของกระทรวงข่าวสารได้ลงประกาศของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย

แต่ข่าวหลายกระแสระบุว่ากองทัพได้ใช้เครื่องมือทางดิจิทัลไปในทางลบ กองทัพและพันธมิตรได้ใช้สื่อออนไลน์เพื่อเผยแพร่คำพูดเกลียดชัง (hate speech) และสนับสนุนความรุนแรง จนทำให้เฟซบุ๊กได้แบนเจ้าหน้าที่และหน่วยทหารจำนวน 20 บัญชีเมื่อปีค.ศ. 2018 ซึ่งรวมถึงของนายพลมิน อ่อง หล่ายด้วย

ในช่วง 10 ปีหลังนี้ชาวเมียนมาได้ลิ้มรสเสรีภาพที่เลอค่า แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก และผู้นำพลเรือนกับกองทัพก็ยังเข้ากันไม่ค่อยได้  แต่อย่างน้อยชาวเมียนมาก็ได้มีโอกาสเรียนรู้ว่าสื่อมวลชนทำงานอย่างไรให้สังคม แม้จะกระท่อนกระแท่นบ้างก็ตาม

ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น? นักข่าวคนหนึ่งบอกว่าทหารน่าจะ “ขุดรากถอนโคนมากกว่าจะแค่ตัดกิ่งไม้ ซึ่งหมายถึงว่าจะมุ่งเป้าไปที่บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหรือกองบรรณาธิการมากกว่าจะเป็นนักข่าวเป็นรายบุคคล”  แต่เขาก็เสริมว่าจริงๆแล้วตอนนี้ทหารอยากจะจับใครไปขังก็ทำได้

นักข่าวอีกคนบอกว่า “ไม่อยากจะต้องอดหลับอดนอน (หลังจากเขียนข่าว)” โดยเขาเสริมว่ากองทัพได้ข่มขู่สื่อมวลชนดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ในอดีตอาจจะกลับมาเกิดซ้ำอีก

นักหนังสือพิมพ์หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยทำงานในสื่อพลัดถิ่น ได้กล่าวว่าสิ่งที่เธอกลัวที่สุดคือการที่พม่าจะย้อนกลับไปสู่ “ยุคหิน” คือมีคณะกรรมการเซ็นเซอร์เนื้อหาสื่อ ซึ่งเพิ่งถูกยุบไปเมื่อปีค.ศ. 2013

แม้จะไม่มีการกวาดล้างสื่อมวลชนอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์จะปกติ แล้วก็ไม่ควรวางใจเรื่องความปลอดภัยของนักข่าวอาชีพ  ความอึมครึมในตอนนี้ก็คล้ายกับมีดาบมาแขวนอยู่เหนือศีรษะของสื่อมวลชนเมียนมาด้วยเส้นด้าย  บางคนมองว่ากองทัพอาจจะปล่อยให้สื่อมวลชนทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำอะไร “ล้ำเส้น”

ทุกๆวันจะมีข่าวลือว่าใครจะเป็นเป้าถัดไปของกองทัพ  แต่ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งกล่าวว่า “เราจะเขียนข่าวต่อไปไม่ว่าจะดีหรือร้าย นี่เป็นพันธกิจของเราเพราะชาวบ้านต้องการข่าว”

“ถ้านักข่าวอย่างเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ?”

เป็นภาษาอังกฤษ

*โจฮันนา ซัน (Johanna Son) เป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการของ Reporting ASEAN บทความนี้ไม่ได้ระบุชื่อนักข่าวและสื่อมวลชนที่เอ่ยถึง ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

Leave a Comment

© 2023 Reporting ASEAN – Voices and views from within Southeast Asia. All Rights Reserved.

Scroll to top