สัมภาษณ์ แรงงานอพยพในอาเซียน: โควิด-19 ทำให้เราเหลือศูนย์
“เราไม่รู้ว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดขึ้นได้” ยูยุน วาห์ยูนิงรัม (Yuyun Wahyuningrum) ตัวแทนประเทศอินโดนีเซียในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Inter-governmental Commission on Human Rights หรือ AICHR) กล่าวด้วยความหงุดหงิด โดยที่ “เรื่องนี้” หมายถึงการที่แรงงานอพยพถูกปฏิบัติด้วยความหวาดระแวงและไม่เป็นมิตร หลังจากไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
ผู้ส่งเสริมเรื่องสิทธิในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์หลายคนเกิดความงุนงงสงสัย หลังจากที่ได้มีการรณรงค์ให้เห็นอกเห็นใจแรงงานอพยพมาเป็นเวลาหลายสิบปี เหล่านักรณรงค์พยายามทำความเข้าใจว่า “ทำไมมันดูเหมือนว่าสิ่งที่พวกเราได้ทำไป ไม่ทำให้เกิดความไว้วางใจขึ้นเลย (ในสังคมที่รับแรงงานอพยพ)” ยูยุนกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับบรรณาธิการของ Reporting ASEAN โจฮันนา ซัน (Johanna Son)
ยูยุน ซึ่งทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมากว่า 2 ทศวรรษทั้งในประชาสังคมและองค์กรของอาเซียน กล่าวว่าขณะที่ชุมชนท้องถิ่นมีทัศนคติต่อแรงงานอพยพที่แปรผันไป มุมมองของรัฐบาลก็เปลี่ยนเช่นกัน แต่เป็นไปในทางตรงข้าม และเนื่องจากโควิด-19 ไม่ได้แยกแยะเหยื่อตามเชื้อชาติหรือสถานะการเข้าเมือง เธอตั้งข้อสังเกตว่าอาเซียนกำลังมุ่งหน้าสนับสนุนให้มีการคุ้มครองด้านสังคมให้กับแรงงานอพยพ ยูยุนเสริมว่าจุดเริ่มต้นที่น่ายินดีก็คือ การที่แผนปฏิบัติการของอาเซียนสำหรับกรอบการฟื้นฟูเรื่องโควิด-19 ได้กล่าวถึง “การประกันสังคมที่ครอบคลุมของแรงงานอพยพเมื่อไปทำงานต่างประเทศ” ภายในกลุ่มอาเซียน
ก่อนที่โควิด-19 จะระบาด องค์การสหประชาชาติได้ประเมินว่ามีแรงงานอพยพประมาณ 650 ล้านคนภายในอาเซียน โดยส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ก่อนที่โรคระบาดใหญ่นี้จะส่งผลให้แรงงานหลายแสนคนต้องเดินทางกลับบ้านนั้น ประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนามได้รับเงินโอนกลับบ้านจากคนงานที่ไปขายแรงในต่างประเทศจำนวนสูงมาก จนติดอันดับ 10 ประเทศแรกของโลก ในบรรดาประเทศอาเซียนที่รับแรงงานอพยพเข้าทำงาน ประมาณกันว่ามีแรงงานอพยพร้อยละ 11-37 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศนั้นๆ
โจฮันนา: โควิด-19 อยู่กับเรามากว่าปีแล้ว อาเซียนได้เรียนรู้อะไรบ้างในส่วนที่เกี่ยวกับแรงงานอพยพของเรา?
ยูยุน: โควิด-19 ทำให้ภูมิภาคนี้ได้เข้าใจในเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างสาธารณสุขและการอพยพแรงงาน ดิฉันพูดอย่างนี้เพราะว่าในกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework) มีการกล่าวถึง “การประกันสังคมที่ครอบคลุมเมื่อไปทำงานต่างประเทศ” (“portable social security”) ด้วยสำหรับแรงงานอพยพ แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนยังตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ จะเป็นประเทศที่รับแรงงาน (ไม่ใช่รัฐบาล) หรือจะเป็นนายจ้าง บริษัท ตัวแทนจัดหางาน หรือคนงานอพยพเอง
แรงงานอพยพบางคนมีสิทธิ์ประกันสังคม แต่ใช้ได้เฉพาะในประเทศตัวเองเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าภาคเอกชนไม่ได้ร่วมมือกันในเรื่องการดูแลสุขภาพของแรงงานอพยพ และไม่มีกฎระเบียบที่จะอนุญาตให้บริษัทประกันให้บริการข้ามแดนได้
การบรรจุเรื่องนี้มีน้ำหนักเพียงใดในเอกสารของอาเซียน? อาเซียนจัดการกับปัญหาแรงงานอพยพค่อนข้างช้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ยูยุน: ดิฉันไม่เคยคิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าตื่นเต้น แต่หลังจากที่ได้รับรู้ว่าเรื่องนี้มีการอภิปรายกันในคณะกรรมการอาเซียนด้านแรงงานข้ามชาติ (ASEAN Committee on Migrant Workers) มาเป็นเวลาหลายปี การบรรจุเรื่องนี้ในกรอบการฟื้นฟู จึงช่วยเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ หมายความว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า แรงงานข้ามชาติอาจจะได้รับความคุ้มครองดูแลด้านสุขภาพทั้งในประเทศต้นทางและประเทศปลายทางด้วย
โควิด-19 เป็นสัญญานเตือนแรงๆให้ประเทศอาเซียนอย่างไรบ้าง
ยูยุน: ตอนนี้ยังมีแรงงานอพยพหลายคนถูกเลือกปฏิบัติ ถูกเกลียดชังและถูกมองว่าเป็นพาหะนำเชื้อไวรัส แต่ดิฉันรู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น ช่วงก่อนเกิดโควิดนั้น รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆมีมุมมองที่เป็นลบกับแรงงานอพยพ ดิฉันเคยร่วมประชุม 2 ครั้ง (การประชุมอาเซียนด้านแรงงานข้ามชาติ) เมื่อหลายปีก่อน ได้ยินว่าพวกบริษัทและตัวแทนจ้างงานมักดูถูกแรงงานอพยพ และรัฐบาลประเทศปลายทางมักใช้คำพูดว่า “เราให้โอกาสคุณ” ซึ่งฟังดูเหมือนเป็นความปรารถนาดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยฝ่ายที่ทำงานในพื้นที่ อย่างกลุ่มประชาสังคมและอื่นๆเป็นหลัก กลับเห็นอกเห็นใจแรงงานอพยพ
โควิด-19 มีผลกระทบสมการนี้อย่างไร?
ยูยุน: ช่วงวิกฤตโควิด-19 ชาวบ้าน (ตอนนี้) โทษแรงงานอพยพว่าเป็นพาหะนำเชื้อ แสดงความเกลียดชังและเลือกปฏิบัติต่อคนงานต่างด้าว แต่ในระดับรัฐบาลกลับพยายามปกป้องคนกลุ่มเดียวกันนี้ แน่นอนว่ารัฐบาลยังไม่ได้ทำเต็มที่แต่มันมีสัญญาณการเปลี่ยนมุมมองต่อแรงงานอพยพ ก่อนโควิดมานั้น แรงสนับสนุนจะมาจากชาวบ้านธรรมดาในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายมีความลังเลใจ แต่ในช่วงโควิดตอนนี้เหตุการณ์เปลี่ยนไป คนที่ลังเลใจกลับเป็นชาวบ้าน
กลุ่มอาเซียนยอมรับหรือไม่ว่าสิทธิต่างๆของแรงงานอพยพจะยังคงอยู่แม้ว่าจะย้ายประเทศที่ทำงาน?
ยูยุน: การที่เรื่องนี้ถูกพูดถึงใน “กรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน” ก็แสดงถึงการยอมรับว่าแรงงานอพยพมีสิทธิต่างๆ รวมทั้งสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับสุขภาพด้วย
ช่วยยกตัวอย่างของการที่โรคระบาดใหญ่นี้ช่วยเปิดหูเปิดตารัฐบาล
ยูยุน: สถานการณ์ในสิงคโปร์เป็นตัวอย่างหนึ่ง ไม่ว่าคุณจะเป็นแรงงานอพยพหรือไม่ คุณก็มีโอกาสติดโควิดได้ รัฐบาลไม่สามารถจะเลือกใช้มาตรการที่ต่างออกไปเพียงเพราะว่าคนพวกนั้นอพยพเข้าประเทศ นั่นคือสิ่งที่ภูมิภาคนี้ได้เรียนรู้เป็นอย่างมากจากโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายจำต้องยอมรับความจริงที่ว่าถ้าจะให้รอดจากโควิด ก็จะต้องปกป้องทุกๆคน แต่ก่อนอื่นจะต้องยอมรับว่าแรงงานอพยพมีสิทธิในด้านสุขภาพ ตอนนี้ผู้กำหนดนโยบายจะต้องมีการคิดและวางแผนว่าจะทำเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องยาก
ดิฉันคิดว่าการถกเถียงในเรื่องที่ว่าแรงงานอพยพมีสิทธิหรือไม่นั้น ได้จบไปแล้ว ตอนนี้เป็นเวลาของการปฏิบัติการ ทำให้เกิดเป็นจริงขึ้นมาโดยเฉพาะเรื่องสิทธิในสุขภาพของแรงงานอพยพ
ทำไมโควิด-19 ถึงทำให้เกิดทัศนคติด้านลบต่อแรงงานอพยพในประเทศปลายทาง อย่างมาเลเซียหรือไทย?
ยูยุน: มีคนบอกว่าอาจจะเป็นเพราะโควิด-19 สร้างความรู้สึกแปลกแยก เพราะว่าเชื้อไวรัสตัวนี้มาจากนอกประเทศและแพร่กระจายเร็วมาก เราจึงมีความรู้สึกเกลียดชังคนที่มาจากนอกสังคมของเรา ไม่ว่าจะเป็นคนต่างชาติ คนต่างด้าว แม้ว่าคนพวกนั้นจะอยู่ในประเทศของเรามานานหลายปีแล้ว มีความคิดที่ว่าคนเหล่านั้นไม่สมควรที่จะได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการของรัฐ รัฐบาลบางประเทศเรียกสิ่งนี้ว่า “ชาตินิยมโควิด”
มาเลเซีย สิงคโปร์และไทยนั้น จริงๆแล้วต้องอาศัยแรงงานต่างชาติเป็นอย่างมาก แต่ทำไมถึงไม่ตระหนักในเรื่องนี้ อย่างน้อยก็เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง?
ยูยุน: จริงๆแล้วเจ้าโควิด-19 นี้ทำให้เรากลับไปเป็นศูนย์ ดูเหมือนว่าความพยายามของเราในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่จะสร้างการรับรู้ กลับไม่เหลืออะไรเลย องค์กรประชาสังคมพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมไม่เหลือความไว้วางใจอยู่เลย ทั้งที่เราก็ได้ลงแรงไปมาก ดูเหมือนผลงานที่ผ่านมาจะสูญเปล่า เราไม่รู้แน่ชัดว่าทำไมมันเป็นอย่างนี้ ราวกับว่าทัศนคติที่เปลี่ยนไปในอดีตที่เราเห็นนั้น ดูเหมือนจะปลอมมาก เคยคิดว่าเราประสบความสำเร็จ แต่ตอนนี้ชัดเจนว่าไม่ใช่เลย
เพราะว่าโควิด-19 ทำให้คนมีพฤติกรรมต่างๆที่เกิดจากความกลัวใช่หรือไม่?
ยูยุน: ดิฉันคิดว่าโควิด-19 เป็นแค่ตัวจุดชนวน แต่โดยลึกๆมันมีการเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว คนทั่วไปมองแรงงานที่อพยพเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจ ว่าเป็นคนจนและดังนั้นคนจนจึงถูกเลือกปฏิบัติได้ คนจนกลายเป็นภาระทั้งในประเทศที่ส่งออกแรงงานและประเทศที่รับแรงงาน แรงงานอพยพส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน แต่คนพวกนี้เขาต้องการทำงาน สังคมไม่ซาบซึ้งกับความกระตือรือร้นที่จะทำงาน กับความสามารถในการเอาตัวรอด แต่กลับมองไปที่ภูมิหลังของคนเหล่านั้น ว่าจน ไม่มีการศึกษา แล้วก็มีบางคนที่มองแรงงานอพยพว่าขี้เกียจ โง่อะไรต่างๆ คนงานพวกนี้ไม่ได้อยากจะไปขอทานข้างถนน แค่ต้องการทำงาน
ประกันสังคมที่ครอบคลุมเมื่อไปทำงานต่างประเทศ จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิผลได้หรือไม่ ในสังคมที่คนไม่ยอมรับแรงงานอพยพ?
ยูยุน: ดิฉันไม่แน่ใจ ประการแรกคือถึงแม้อาเซียนจะนำเรื่องนี้มาถกเถียงกันในการประชุมระดับสูง แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะยอมรับในเรื่องนี้ จากประสบการณ์ที่ทำงานใน AICHR แม้ว่าคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนดังกล่าว จะก่อตั้งแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศสมาชิกทั้งหมดจะเข้ามาข้องเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน การที่สามารถใส่แนวคิดดังกล่าวลงในเอกสารทางการ (แผนฟื้นฟู) ก็เป็นชัยชนะในระดับหนึ่ง ขั้นตอนต่อไปก็คือจะเจรจาอย่างไร
ใช่ คนที่เกี่ยวข้องจะต้องขายแนวคิดนี้ให้กับสาธารณชนของประเทศสมาชิก ซึ่งน่าจะเป็นงานที่ยากกว่าหรือไม่?
ยูยุน: ในขั้นตอนปฏิบัติการ จะเป็นเรื่องของการต่อสู้กับสังคม ต่อสู้กับบริษัท ซึ่งทางบริษัทก็จะดูว่าได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้หรือไม่ ถ้าไม่ (พวกเขาก็จะคิดว่า) “ทำไมเราต้องไปร่วมด้วย?” บริษัทเป็นเรื่องของการทำกำไร ไม่ใช่องค์กรการกุศล
Read this story in English.
(END/Edited by J Son/Reporting ASEAN)